โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้าหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง มีอันตรายถึงชีวิต พบได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด และสามารถติดต่อมายังคนได้ พาหะที่สำคัญที่ทำให้เชื้อติดต่อสู่คนได้คือ สุนัขและแมวเพราะมีความใกล้ชิดกับคนมาก
สาเหตุและการติดต่อ
เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ เรบี (Rabie Virus) การติดเชื้อที่สำคัญคือถูกสัตว์ที่มีเชื้อนี้กัด เชื้อจากน้ำลายจะเข้าสู่บาดแผลและผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ไขสันหลังและสมอง จากนั้นจะปล่อยเชื้อไปตามแขนงประสาทที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งต่อมน้ำลาย เชื้อนี้สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ของต่อมน้ำลายซึ่งจะเป็นช่วงที่สัตว์แสดงอาการป่วย ต่อจากนี้เชื้ออาจติดต่อจากการกินได้หากมีแผลในช่องปาก มักพบการติดต่อแบบนี้ในกรณีสัตว์กินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายใหม่ๆ เข้าไป
อาการ
สัตว์ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการภายในสองอาทิตย์-สามเดือนหรือมากกว่านี้ แต่โดยเฉลี่ยคือสามอาทิตย์ อาการจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- แบบดุร้าย สัตว์จะแสดงอาการเบื่ออาหาร นิสัยเปลี่ยน เช่นชอบกินดิน กินหิน ในโคนมน้ำนมจะลดลง แสดงอาการตื่นเต้น ร้อง หาว ดุร้าย วิ่งชนสิ่งกีดขวาง กลืนอาหารลำบาก น้ำลายไหลมาก ไวต่อแสงและเสียง เมื่อเป็นมากขึ้นจนถึงสมอง จะแสดงอาการเป็นอัมพาต ชัก และตายในที่สุด
- แบบซึม สัตว์จะแสดงอาการตื่นเต้นสั้นมากจนสังเกตไม่ได้ และจะเข้าระยะอัมพาตอย่างรวดเร็ว ซึม น้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน ล้มชัก หายใจไม่ออกและตายในที่สุด อาจพบกล้ามเนื้อกระตุกที่ใบหน้า ใบหู เคี้ยวฟัน หางบิด กล้ามเนื้อคออัมพาตทำให้กินอาหารไม่ได้ ไอ ร้องเสียงแหบต่ำ บางรายคล้ายเป็นสัด ถ่ายเหลวในช่วงแรกและตามด้วยถ่ายลำบากและท้องอืด
การตรวจและวินิจฉัย
โรคนี้อาจวินิจฉัยได้ยากในช่วงแรกเนื่องจากอาการยังปรากฏไม่ชัดเจน หรืออาจแสดงอาการใกล้เคียงกับโรคทางระบบประสาทโรคอื่น จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบยืนยันโรคโดยห้องปฏิบัติการตามวิธีต่างๆ
การรักษา
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายให้สัตว์ใหญ่ภายหลังถูกกัดนั้นยังได้ผลไม่แน่นอนเพราะสัตว์อาจได้รับวัคซีนช้าไป ขนาดและโปรแกรมวัคซีนไม่เหมาะสมม บาดแผลอาจลึกและอยู่บริเวณใบหน้า สัตว์อาจสุขภาพไม่แข็งแรงหรือยังเด็ก รวมถึงขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ (บางชนิดมีความไวต่อเชื้อ) มากกว่าสุนัข
การใช้ antirabies serum ภายหลังถูกกัดอาจได้ผลดีแต่ราคาแพงและหาได้ยาก ไม่เป็นที่นิยมนอกจากสัตว์รายนั้นมีราคาแพง
การป้องกัน
การป้องกันที่ดีที่สุดคือระวังอย่าให้ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด เพราะการติดเชื้อจะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นบ้าส่วนใหญ่ การป้องกันทั่วไปทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- หากสัตว์ได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามากก่อนแล้วถูกสัตว์ที่เป็นบ้ากัด ให้ฉีดวัคซีนซ้ำทันทีและสังเกตอาการ 90 วัน
- หากสัตว์ที่ถูกสัตว์ที่เป็นบ้ากัดไม่ได้รับวัคซีนฯมาก่อนควรทำลายสัตว์นั้นทันทีหรือถ้าไม่ทำลายต้องสังเกตอาการ 180 วัน
โรคพิษสุนัขบ้าในคน
สาเหตุการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากสุนัขโดยการถูกสุนัขกัด, ข่วน หรือเลียบริเวณเยื่อเมือก( เช่นริมฝีปาก, เยื่อตา ) โดยเชื้อไวรัสในน้ำลายสัตว์ผ่านเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกของผู้สัมผัส
ระยะฟักตัวของเชื้อในคน
จากการสำรวจในประเทศไทย ในปี 2522 –2528 พบว่า 87% มีระยะฟักตัวของโรค 3 เดือน 71% มีระยะฟักตัวของโรค 1 เดือน แต่ทุกรายมีระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 1 ปี แต่ยังขึ้นกับปัจจัยดังนี้
1. อวัยวะที่ถูกกัด
2. ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด
3. ชนิดของสัตว์ที่กัด
4. ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล
5. วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาหลังสัตว์กัด
การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. ระยะที่เชื้อเดินทางจากตำแหน่งที่เข้าไปยังระบบประสาท
2. ระยะเชื้อเพิ่มจำนวนในระบบประสาทส่วนกลาง
3. ระยะที่เชื้อเดินทางจากระบบประสาทส่วนกลางออกสู่อวัยวะอื่น
จากการสำรวจผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยปี พ.ศ. 2543 พบว่า
- การเกิดโรคในเพศชาย มากกว่าเพศหญิง
- ส่วนใหญ่ถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด
- ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหลังรับเชื้อ
- กลุ่มอายุที่พบมากจะอยู่ระหว่าง 5 - 9 ปี
การป้องกัน
องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กลุ่มคนที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าดังนี้
1 กลุ่มที่เสี่ยงมากต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการวิจัยเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มดังกล่าวนี้จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
2 กลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าปานกลาง เช่น เจ้าหน้าที่ชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ นักสัตววิทยา ผู้ปฏิบัติงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในภาคสนาม ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า ผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์(โดยเฉพาะสุนัข แมว และสัตว์ป่า) และรวมถึงบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุข
วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
- วัคซีนที่เตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยง มี 3 ชนิด
1. Human Diploid Cell Rabies Vaccine หรือ HDCV
2. Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine หรือ PCEC
3. Purified Vero Cell Rabies Vaccine หรือPVRV
- วัคซีนที่เตรียมจากไข่เป็ดฟัก
1. Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine หรือ PDEV
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า (Pre-Exposure Immunization) องค์การอนามัยโลกกำหนดโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าโดยฉีด 3 ครั้ง ในวันที่ 0 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นเมื่อสัมผัสเชื้ออีก 1 หรือ 2 เข็ม แต่ถ้าม่มีประวัติสัมผัสแต่ต้องทำงานสัมผัสกับเชื้อตลอดเวลาอาจฉีดกระตุ้น ทุก 3 – 5 ปี
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันหลังจากสัมผัสกับโรค (Post-Exposure Immunization)
องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวทางการพิจารณารักษาผู้ที่สัมผัสกับโรคพิษสุนัขบ้าไว้ดังนี้
กลุ่ม
|
ชนิดของการสัมผัส
|
การรักษา
|
1
|
1.1 ถูกต้องตัวสัตว์ หรือป้อนน้ำป้อนอาหารผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก 1.2 ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือดสัตว์ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก |
ล้างบริเวณสัมผัส ไม่ต้องฉีดวัคซีน
|
2
|
2.1 ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก |
ล้าง และรักษาบาดแผล ฉีดวัคซีน (1)
|
3
|
3.1 ถูกกัด ถูกข่วนเป็นแผลเดียวหรือหลายแผลและมีเลือดออก 3.2 ถูกเลีย หรือน้ำลายถูกเยื่อเมือก ตา ปาก 3.3 มีแผลที่ผิวหนังและสัมผัสเนื้อสมองสัตว์และ/หรือชำแหละซากสัตว์ |
ล้าง และรักษาบาดแผล
ฉีดวัคซีน (1) อิมมูโนโกลบุลิน (2) |
(1) หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์(เฉพาะสุนัขและแมว)ยังเป็นปกติตลอดเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน
(2) กรณีถูกกัดเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือและนิ้วมือ หรือแผลลึก แผลฉีกขาดมากหรือถูกกัดหลายแผลถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงและระยะ ฟักตัวมักสั้น จึงจำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน โดยเร็วที่สุด
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันหลังจากสัมผัสกับโรคในประเทศไทยที่ใช้กันแพร่หลายมีอยู่ 2 แบบ
1. โปรแกรมการฉีดวัคซีนแบบปกติ โดยฉีดวัคซีน 1 โด๊ส ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 30
2. โปรแกรมการฉีดแบบประหยัด ใช้ได้กับวัคซีนPVRV โดยฉีด 2 จุดในวันที่ 0, 3, 7 จากนั้นฉีด 1 จุด ในวันที่ 30 และ 90